เลนส์มัลติโค้ด คืออะไร?

ทำไมราคาไม่เท่ากัน?
โพสนี้มาทำความเข้าใจเลนส์มัลติโค้ด (Multi-Coated) ว่าคืออะไร และมีอะไรบ้างบนเลนส์มัลติโค้ดครับ

มัลติโค้ด คือการเคลือบผิวเลนส์ (Coating) ถ้าทำหลายชั้นราคาก็จะสูง ถ้าเคลือบไม่กี่ชั้นราคาก็จะถูกลงมาครับ โดยการเคลือบเลนส์จะแบ่งเป็น Layer เช่น
- โค้ดกันรอย Anti-Scratch (Hard Coating)
- โค้ดลดแสงสะท้อน Anti-Reflection (AR)
- โค้ดผิวลื่น Hydrophobic/Anti-Dust
- โค้ดกันยูวี Ultraviolet Protection (UV)
- โค้ดกันคลื่นแม่เหล็ก EMI coating
- โค้ดตัดแสงสีน้ำเงิน Blue-Ray protection
- โค้ดลดแสงจ้าในเวลากลางคืน NightDrive Coating
- โค้ดเปลี่ยนสีเลนส์ Photochromic Transition
จะเห็นว่าชั้นโค้ดมีเยอะมากๆ แต่ไม่ต้องตกใจครับ การทำ multi-coatedไม่ได้ทำทุกชั้น ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเลนส์จะเลือกทำชั้นใหน รุ่นเลนส์จึงมีหลายชื่อเรียกตามชั้นโค้ดที่เคลือบเข้าไป

คุณสมบัติของการเคลือบผิวแต่ละชั้น

โค้ดกันรอย Anti-Scratch (Hard Coating)

คือชั้นเคลือบที่เพิ่มความแข็งบนหน้าเลนส์ ให้ทนต่อรอยขีดข่วน ถ้าทำซ้อนกันหลายๆชั้นก็จะทำให้เลนส์เป็นรอยได้ยากขึ้น เลนส์ยี่ห้อดีๆจึงทนรอยขีดข่วนได้ดีกว่า แม้จะมีชื่อเรียกมัลติโค้ดเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีเลนส์เคลือบแข็งตัวไหนสามารถทนรอยขีดข่วนได้ 100% (ขนาดกระจกไอโฟนที่เคลมว่าใช้วัสดุเดียวกับยานอวกาศยังเป็นรอย) ดังนั้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของร้านแว่นตา จึงช่วยยืดอายุเลนส์ได้อีกทางนึงครับ

โค้ดลดแสงสะท้อน Anti-Reflection (AR)

AR คือพื้นฐานของการทำมัลติโค้ดครับ การทำ AR Coating จะทำให้แสงสะท้อนบนหน้าเลนส์ลดลง ทำให้ช่วยผู้สวมใส่มองผ่านเลนส์ได้สบายตามากขึ้น โดยปัจจุบันผิวเคลือบชั้นนี้มักถูกทำให้เป็นสีเขียว เพราะเป็นสีที่มองผ่านแล้วสบายตาที่สุดครับ

โค้ดผิวลื่น Hydrophobic/Anti-Dust

ชั้นนี้เป็นการเคลือบเพื่อให้เลนส์มีความลื่น คำถามคือ ลื่นไปทำไม? คำตอบคือ เพื่อให้เลนส์สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น สิ่งสกปรกเกาะได้ยากขึ้น ก็จะช่วยลดการเกิดรอยบนหน้าเลนส์ได้ เพราะกว่า 90% ของรอยขีดข่วน เกิดขึ้นขณะเช็ดเอาสิ่งสกปรกบนหน้าเลนส์ออก

เจ้าพ่อของการเคลือบเลนส์ให้ลื่นคือ HOYA ครับ เป็นที่รู้กันในวงการ ว่าลื่นจริงๆครับ

โค้ดตัดแสงสีน้ำเงิน Blue-Ray protection

"แสงสีน้ำเงิน" คือคลื่นแสงที่อาจทำอันตรายต่อจอประสาทตาของเรา พบในแหล่งกำเนิดแสงชนิด LED ครับ จึงมีการคิดค้นชั้นเคลือบที่สามารถลดทอนแสงสีน้ำเงินออกไปได้บางส่วน เรียกกันว่า "บลูคัท" ปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายครับ

ตรงนี้หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่าบลูคัท สีเลนส์จะออกน้ำเงิน จริงๆคือไม่ใช่ครับ เพียงแต่การที่เคลือบสีน้ำเงินลงไปบนหน้าเลนส์ก็เพื่อให้เราแยกออกว่าเลนส์ที่พบเห็นคือเลนส์บลูคัท

แต่ภายหลังพบว่าเลนส์ที่เคลือบสีน้ำเงินรบกวนการมองเห็นในลูกค้าบางท่าน ผู้ผลิตเลนส์หลายๆบริษัทจึงเริ่มปรับสีเคลือบให้เป็นสีเขียว แต่คุณสมบัติบลูคัทยังคงอยู่เหมือนเดิม

เมื่อโค้ดเป็นสีเขียวแล้ว การแยกว่าเลนส์ชิ้นไหนเป็นบลูคัทก็มีหลายวิธีครับ ที่นิยมสุดคือการใช้เลเซอร์ความถี่ 425nm ยิงผ่านเลนส์ ความเข้มของแสงก็จะโดนลดทอนไปบางส่วน

*ภาพประกอบเป็นการสมมุติว่าเรานำเลนส์ออกมาส่องสะท้อนกับแสงสว่างนะครับ พวกเราจะได้นึกภาพตามได้ง่าย

โค้ดลดฝ้าบนเลนส์ (Anti-Fog)

ฝ้าบนเลนส์จะเกิดขึ้นเมื่อความชื้นในอากาศปะทะกับผิวเลนส์ที่เย็นกว่า เกิดเป็นหยดน้ำเล็กๆเกาะบนผิวเลนส์ เราจึงเห็นเลนส์เป็นฝ้ามัว

ผู้ผลิตเลนส์จึงพัฒนาสารป้องกันการเกิดฝ้าขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยการเคลือบชั้นฟิล์มบางๆเพื่อป้องกันไอน้ำไม่ให้จับตัวบนผิวเลนส์

แต่ปัญหาคือสารชนิดนี้เคลือบอยู่ชั้นบนสุดของเลนส์ มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่สามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกับเลนส์ได้ จึงไม่สามารถคงอยู่ได้นาน เราจึงมักพบว่าบริษัทเลนส์จะแถมผ้าเช็ดเลนส์กันฝ้าที่ผสมสารเคลือบมาให้ด้วย เพื่อรักษาคุณสมบัตินี้ไว้ทุกครั้งที่ทำการเช็ดแว่น

โค้ดเปลี่ยนสีอัตโนมัติ Photochromic Transition

คือการเพิ่มคุณสมบัติให้เลนส์มีการเปลี่ยนสีเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง พอกลับมาอยู่ในที่ร่มเลนส์ก็จะกลับมาใสตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นกันแดด ก็สะดวกดีครับ

หลักการเปลี่ยนสีเลนส์คือใช้ UV ในแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เลนส์เกิดการเปลี่ยนสี เมือไม่มียูวีเลนส์ก็จะไม่เปลี่ยนสีครับ

ปัจจุบันเลนส์เปลี่ยนสีมีจำหน่ายทุกยี่ห้อ ผู้ผลิตเลนส์ค่อยๆพัฒนาชั้นเคลือบตัวนี้ให้เปลี่ยนสีได้เร็วขึ้น มีความเข้มมากขึ้น เทคโนโลยีก็ดีขึ้นตามลำดับครับ

โค้ดกันหยดน้ำเกาะหน้าเลนส์

โค้ดชนิดนี้เป็นผลพลอยได้จากการทำโค้ดผิวลื่น (Hydrophobic) และโค้ดกันฝ้าครับ ถ้าผู้ผลิตเลนส์โฆษณาผิวโค้ดชนิดนี้แยกออกมา ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะกระบวนการทำและสารเคลือบคือตัวเดียวกัน

สรุป

มัลติโค้ด คือการเคลือบผิวเลนส์ (Coating) เป็นชั้นๆ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเลนส์จะเลือกทำชั้นใหน ส่วนคุณภาพ/ความหนาของชั้นโค้ด ก็แปรผันตามยี่ห้อเลนส์ครับ

*ข้อควรรู้

ในบ้านเรา "มัลติโค้ด" คือชื่อเรียกของเลนส์ที่ทำโค้ด 2 ชั้นคือ โค้ดกันรอย+โค้ดลดแสงสะท้อน

ถ้าเพิ่มโค้ดตัดแสงสีน้ำเงิน จะเรียกชื่อว่าเลนส์ "บลูคัท" ซึ่งจริงๆแล้วบลูคัททำโค้ด 3 ชั้นคือ โค้ดกันรอย+โค้ดลดแสงสะท้อน+โค้ดตัดแสงสีน้ำเงิน

นอกเหนือจากนี้ มีชื่อเรียกอีกเยอะมาก แม้คุณสมบัติเดียวกันแต่เปลี่ยนยี่ห้อชื่อก็เปลี่ยน วิธีที่ดีสุดคือสอบถามร้านค้าโดยตรงว่าเลนส์รุ่นนี้มีคุณสมบัติอะไรบ้างครับ

แว่นตากาดก้อม เชียงใหม่